ผลงานวิจัย ของ ศราวุฒิ จิตรภักดี

ศาสตราจารย์ ศราวุฒิ จิตรภักดี ทำงานวิจัยใน 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ

  1. การศึกษาทางชีววิทยาโมเลกุลของเชื้อไวรัสหัวเหลือง ซึ่งเป็นโรคที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายในอุตสาหกรรมกุ้งกุลาดำ โดยมุ่งเน้นไปที่การศึกษาขบวนการชีวสังเคราะห์ ของโปรตีนเปลือกหุ้มของเชื้อไวรัส (spike glycoprotein) gp64 โดยโปรตีนดังกล่าวเป็น glycoprotein ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของไวรัสที่ทำให้สามารถเข้าสู่เซลล์ได้ ปัจจุบันได้พัฒนาระบบการแสดงออกของยีนดังกล่าว โดยระบบ baculovirus expression system เพื่อตรวจหาการสังเคราะห์โปรตีนดังกล่าว โดยใช้เซลล์แมลงเป็น model นอกจากนี้ยังศึกษา virus/host interaction โดยพยายามค้นหากลุ่มยีนของกุ้งกุลาดำ ที่ตอบสนองเมื่อกุ้งติดเชื้อด้วยไวรัสดังกล่าว ความรู้พื้นฐานที่ได้จากการวิจัยนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสในอนาคต โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง (CENTEX Shrimp) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. การศึกษากลไกควบคุมการแสดงออกของเอนไซม์ไพรูเวท คาร์บอกซิเลซ เอนไซม์ดังกล่าวมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างน้ำตาล และการกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากเซลล์ตับอ่อน โดยมุ่งเน้นไปที่การหากลุ่มโปรตีน (transcription factors) ซึ่งควบคุมการแสดงออกของเอนไซม์ตัวนี้ในสภาวะปกติ และสภาวะที่ถูกกระตุ้น/ยับยั้ง ด้วยระดับน้ำตาลและกรดไขมัน ความผิดปกติในการแสดงออกของเอนไซม์ดังกล่าว มีผลทางอ้อมต่อสภาวะการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (NIDDM) งานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก Third World Academy of Sciences (TWAS) , สกว. และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล